“Tokenization” กับที่มาของโทเคนพิเศษที่เรียกว่า NFT

รับนักลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้น ส่วนใหญ่มักจะเคยได้ยินคำศัพท์เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์หรือ Securitization คือการนำสินทรัพย์ของผู้ระดมทุน ซึ่งอาจจะมีสภาพคล่องในการซื้อขายที่ต่ำมากองรวมกันเป็น Pool Assets เช่น อสังหาริมทรัพย์ ลูกหนี้เงินกู้ที่อยู่อาศัย เงินกู้บัตรเครดิต เป็นต้น และโอนให้กับบริษัทตัวกลางที่จัดตั้งขึ้น (Special Purpose Vehicle : SPV) เพื่อออกหลักทรัพย์ที่มีกองสินทรัพย์ข้างต้นหนุนหลังเรียกว่า Asset Backed Securities หรือ ABS แต่ในยุคที่สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมและมีการยอมรับที่มากขึ้นเช่น จึงเกิดคำศัพท์คำใหม่ที่มีชื่อว่า Tokenization

Tokenization คืออะไร?

Tokenization คือ การสร้างตัวแทนของทรัพย์สินหลากหลายชนิด ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Representation) ด้วยการสร้างโทเคนเพื่อมาเป็นตัวแทนของสิทธิหรือทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น ทองคำ เครื่องประดับ โฉนดที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ งานศิลปะ ทรัพย์สินทางปัญญา สินทรัพย์ทางการเงิน เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง หนึ่งในเหตุผลหนักคือ เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินหรือนำทรัพย์สินดังกล่าวมาแบ่งเป็นโทเคน หากอ้างอิงตาม พรก สินทรัพย์ดิจิทัล โทเคนทั่วไปจะเรียกว่า Digital Token ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ Utility Token และ Investment Token แต่ละชนิดก็จะมีเอกลักษณ์และความแตกต่างกันพอสมควร แต่ในช่วงปี 2021 จนถึงปัจจุบันก็มีโทเคนอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงทั่วโลกอย่างต่อเนื่องคือ NFT ( Non- Fungible Token)

แล้ว NFT คืออะไร มีลักษณะแตกต่างกับโทเคนชนิดอื่นอย่างไร?

การสร้างโทเคนในยุคเริ่มต้นนักพัฒนามักจะใช้ Ethereum Blockchain โดยมีโปรโตคอลมาตรฐานที่เรียกว่า ERC-20 ซึ่งการแปลงอะไรก็ตามเป็นโทเคนเราสามารถกำหนดจำนวนโทเคนนั้นได้ตามความพอใจ เช่น เราต้องการแปลงอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 1,000 ล้านบาทออกมาเป็น 1,000 โทเคน ก็จะมีราคาตั้งต้นที่ 1 ล้านบาท/โทเคน และโทเคนทั้งหมดจะมีลักษณะที่เหมือนกัน ทดแทนกันได้ แต่ NFT นั้นต่างออกไป โดยการใช้โปรโตคอลมาตรฐานที่เรียกว่า ERC-721 ซึ่งทุกสิ่งที่เรานำมาแปลงไม่ว่าจะเป็นอะไร มีขนาดเท่าไหร่ ผลลัพธ์จะออกมาเป็น 1 โทเคน แต่ละโทเคนจะมี ID เฉพาะของตัวเอง ทำให้มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน ทดแทนกันไม่ได้

ทำให้มีการพยายามนำสิ่งที่มีมูลค่าในโลกดิจิทัลรวมไปถึงโลกจริง (Physical World) มาทำเป็น NFT และวางไว้บน Blockchain ที่มีความปลอดภัย ตรวจสอบได้ ด้วยคุณสมบัติของ Blockchain รวมกับโปรโตคอล ERC-721 จึงถือกำเนิด Digital Representation และนักลงทุน นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ผลงาน นักเก็งกำไร รวมไปถึงองค์กรขนาดเล็กใหญ่ทั่วโลกต่างจับตามอง NFT กันเป็นอย่างมาก ด้วยความที่มีกรณีศึกษา (Use Case) ของการซื้อขาย NFT ด้วยมูลค่าสูง หรือการเข้ามามีส่วนร่วมกับ NFT จากทุกวงการ เช่น วงการสื่อ กีฬา ดนตรี แฟชั่น เกม ไอที เป็นต้น

NFT จึงมีความน่าสนใจและมีโอกาสอีกมากมายให้เราได้ทำความเข้าใจ ไม่ว่าเราจะเป็นนักลงทุน ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจกับสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา การมาของเทคโนโลยีใหม่ วิวัฒนาการใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่เราไม่ควรมองข้าม

เอกราช ศรีศุภวิชากิจ, AFPT

Head of Risk Management & Research Specialist Zipmex Trader

________________________________

ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์

กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻

 FB : https://techtoro.me/web-fb

 LINE@ : https://techtoro.me/web-line

 Youtube : https://techtoro.me/web-yt

 IG : https://techtoro.me/web-Ig

 Twitter : https://techtoro.me/web-tw

 Blockdit : https://techtoro.me/web-bd

 Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok 

Email : [email protected]

#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #คริปโต #บล็อกเชน #Tokenization #Blockchain #NFT #ERC-721