การออม เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคง และความมั่งคั่งทางการเงิน เพราะชีวิตตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน การออมเงินจึงสำคัญเพราะสามารถช่วยลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเมื่อเราเกิดปัญหาได้ นอกจากนี้ ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ชีวิตบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่มุ่งหวังอีกด้วย เช่น ออมเงินเพื่อซื้อบ้านในอนาคต ออมเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ หรือออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน เป็นต้น
แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน
“แต่จะเอาเงินจากไหนมาออมล่ะ ทุกวันนี้ยังไม่พอใช้เลย” หลายคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาในใจ แต่ถ้าเราลองปรับ Mindset จาก “เงินออม คือ เงินที่เหลือจากการใช้จ่าย” มาเป็น “เงินสำหรับใช้จ่าย คือ เงินที่เหลือจากการออม” หรืออาจะเขียนเป็นสมการได้ว่า ค่าใช้จ่าย = รายได้ – เงินออม เพียงเท่านี้เราก็จะมีที่ว่างเหลือให้เงินออมของเราแล้ว
ควรออมสัก 10% ของรายได้
ปัญหาส่วนใหญ่ของมือใหม่หัดออม คือไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร แบ่งเก็บเดือนละเท่าไรดี ซึ่งปกติแล้วข้อมูลจากหลายแห่งมักพูดเหมือนกันว่า “ควรออมสัก 10% ของรายได้” ซึ่งตัวเลข 10% นี้มาจากเหตุผลง่าย ๆ 3 ข้อก็คือ
1) เริ่มต้นได้ง่ายสำหรับมือใหม่
2) เข้าใจง่าย ไม่ต้องคำนวณ แค่ตัด 0 ตัวท้ายออกไป
3) ได้ผลจริงในระยะยาว
แต่ว่าตัวเลขนี้ก็ไม่ใช่กฎเหล็กที่ห้ามฝ่าฝืนแต่อย่างใด ใครสะดวกจะออมมากกว่า 10% หรือน้อยกว่า ก็แล้วแต่ใครจะสวกแบบไหน ขอแค่ไม่เป็นภาระกับตัวเองมากเกินไปก็พอ เพราะจุดเริ่มต้นของการออมควรจะโฟกัสไปที่การออมจนเป็นนิสัย มากกว่าจะไปโฟกัสที่จำนวนเงิน
พูดง่าย แต่ทำยาก
ตามทฤษฎีแล้วการออมเงินดูเหมือนจะง่าย แต่พอเราเริ่มลงสนามจริงอาจทำได้ยากมาก เพราะเราต้องต่อสู้กับศัตรูตัวร้ายของการออมนั่นก็คือ “ความไม่มีวินัย” ซึ่งถูกฝังลึกจนกลายเป็นนิสัย ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ “การทำซ้ำ” ให้เคยชินจนกลายเป็นนิสัย ลองมองให้เป็นเรื่องสนุก ท้าทาย และที่สำคัญก็คือต้องออมเงินอย่างเข้าใจเหตุผล โดยมองเป้าหมายทางการเงินไว้เป็นกำลังใจ
เทคนิคออมเงิน 4 บัญชี
พื้นฐานสำคัญสำหรับการออม คือ “ควรแยกบัญชีเงินออม ออกจากบัญชีทั่วไป” เพราะเมื่อมีเงินอยู่ในมือ ก็มักจะมีเรื่องให้ใช้จ่ายได้ตลอดเวลา หากไม่อยากให้เงินออมของเราหายไป ลองแบ่งเงินออมเป็น “4 บัญชี” ตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) บัญชีเงินออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน
เพื่อไว้รับมือกับเรื่องราวไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย ขึ้นโรงขึ้นศาล หรือตกงานกะทันหัน ทางที่ดีควรมีเงินก้อนนี้ติดบัญชีไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะจากสถิติแล้ว 6 เดือนเป็นเวลาที่มากพอให้เราคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
แต่ในยุคโควิด-19 นี้ เราคงเห็นแล้วว่าบางทีเงินสำรองฉุกเฉินเพียง 6 เดือนอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อความมั่นคง และความสบายใจ หากเรามีเงินสำรองฉุกเฉินไว้สัก 12 – 24 เดือน ก็คงจะอุ่นใจไม่น้อย
2) บัญชีเงินออมเพื่ออนาคต
เพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเป็นค่าเล่าเรียนของลูก เงินก้อนนี้ต้องใช้ความตั้งใจ และวินัยในการออมสูง จึงต้องกันเงินไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญ เมื่อใส่เงินเข้าไปในบัญชีนี้แล้ว “อย่าแตะต้องมัน” คิดเสียว่า เราจะไม่ได้เห็นมันอีกแล้ว (จนกว่าจะเกษียณ หรือถึงเวลาต้องใช้ตามเป้าหมายที่วางไว้)
3) บัญชีเงินออมเพื่อความสุข
เพื่อไว้ท่องเที่ยว ให้รางวัลตัวเอง หรือเป็นสินสอดเพื่อแต่งงานกับคนรัก ก็ควรจะแบ่งเงินออมส่วนหนึ่งมาเข้าบัญชีนี้ เพื่อเป็นบันไดให้เราก้าวเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นใจ
4) บัญชีเพื่อการลงทุน
เพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว โดยเริ่มจากการหาความรู้เรื่องทางเลือกการลงทุนต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการทยอยออมเงินวันละนิด จากนั้นเมื่อมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนมากพอ ค่อยนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เราบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
บทความโดย คุณานันต์ TECHTORO 💙❤️
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #เก็บเงิน #การเงิน #เงินออม #ออมเงิน #ออมสี่บัญชี #เทคนิคออมเงิน #การเงินส่วนบุคคล #เศรษฐกิจ #มนุษย์เงินเดือน #รายได้น้อย #Money #Financial #Finance