ซื้อกองทุน SSF หรือ RMF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ต้องแจ้งความประสงค์แก่ บลจ. จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไข และต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 หากแจ้งความประสงค์หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จะได้รับการคืนภาษีล่าช้า
แจ้งความประสงค์ขอลดหย่อนภาษี
นักลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ด้วยตัวเอง ผ่านทางตัวแทนขายหน่วยลงทุน (ใช้แบบฟอร์มแจ้งความประสงค์) หรือผ่านทาง บลจ. (ศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ บลจ.) โดยหากมีเลขผู้ถือหน่วยลงทุนหลายเลข ทั้งที่เปิดบัญชีกับ บลจ. โดยตรง และตัวแทนขายอื่น ๆ การแจ้งความประสงค์จะมีผลกับทุกเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุนของ บลจ. ภายใต้เลขที่บัตรประชาชนเดียวกัน นักลงทุนจึงสามารถแจ้งความประสงค์เพียงครั้งเดียวได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดต่อทุกตัวแทนที่มีบัญชีของ บลจ. นั้น ๆ อยู่
หมายความว่า หากลืมขั้นตอนนี้ไปก็จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน SSF หรือกองทุน RMF ได้ เพราะกรมสรรพากรจะยอมรับหลักฐานการซื้อหน่วยลงทุนจาก บลจ. โดยตรงเท่านั้น

SSF และ RMF คืออะไร ต่างกันอย่างไร
กองทุนรวม SSF หรือ Super Savings Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ซึ่งมาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF (Long Term Equity Fund)
ส่วน RMF หรือ Retirement Mutual Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ส่งเสริมการออมระยะยาวสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ
ข้อแตกต่างในเงื่อนไขรายละเอียดระหว่างกองทุนรวม SSF และ RMF คือ
เงื่อนไขของ SSF
- ต้องถือเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อ) ถ้าขายออกก่อนต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนของปีนั้น และต้องจ่ายค่าเสียภาษีล่าช้าเพิ่มด้วย
- ใช้ลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษี 2563-2567 หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการต่ออายุหรือไม่
- ลงทุนปีไหน ได้ลดหย่อนปีนั้น และไม่มีเงื่อนไขลงทุนต่อเนื่อง
- ไม่สามารถขายคืนก่อนกำหนดได้ แต่สามารถสับเปลี่ยนได้ในกอง SSF ด้วยกันได้
เงื่อนไขของ RMF
- ต้องถือเป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อ) และขายได้หลังอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ถ้าขายออกก่อนต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนในปีนั้น และต้องจ่ายค่าเสียภาษีล่าช้าเพิ่มด้วย
- ลงทุนปีไหน ได้ลดหย่อนปีนั้น และต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อยปีเว้นปี (ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน) หากผิดเงื่อนไขลงทุนต่อเนื่อง ต้องคืนภาษีที่ได้รับยกเว้น 5 ปีย้อนหลัง
- ไม่สามารถขายคืนก่อนกำหนดได้ แต่สามารถสับเปลี่ยนได้ในกอง RMF ด้วยกันได้
อัตราการลดหย่อนภาษี
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
บทความโดย คุณานันต์ TECHTORO 💙❤️
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #กองทุน #กองทุนรวม #SSF #RMF #ลงทุน #ภาษี #ลดหย่อนภาษี #ภาษี65 #ลดหย่อนภาษี65 #กองทุนรวมลดหย่อนภาษี #SSFหมดเขตวันไหน #RMFหมดเขตวันไหน