วันนี้แอดมินมีสาระดี ๆ เกี่ยวกับการเตรียมตัวเกษียณมาฝากกัน เรียกได้ว่าการได้หยุดพักและทำกิจกรรมที่อยากทำในทุก ๆ วันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องงานคือหนึ่งในสิ่งที่หลายคนฝันถึง แต่เส้นทางสู่เป้าหมายนั้นไม่ใช่ทุกคนจะสามารถผ่านมันไปได้ เพราะต้องอาศัยทั้งการวางแผน การลงมือทำและที่สำคัญที่สุดคือ “วินัยทางการเงิน” แล้วถ้าเราอยากจะเกษียณต้องทำอย่างไร? ไปดูกันเลย!
ก่อนจะเริ่ม อย่าลืมพื้นฐานของการเงินส่วนบุคคลนะ!
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องมีคือ “สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ” ซึ่งหมายถึง ความสามารถในสร้างเงินสด และความสามารถในการเปลี่ยนสิ่งของหรือสินทรัพย์ให้เป็นเงินสด เพื่อนำไปจ่ายหนี้หรือใช้จ่ายได้อย่างอิสระ ถ้าเราสามารถบริหารจัดการการเงินของเราได้แล้ว การวางแผนเกษียณจะไม่ใช่เรื่องยากเลย!
มาเริ่มวางแผนเกษียณกันเถอะ!
ผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแผนการเกษียณมากเท่าที่ควร มองดูเป็นเรื่องไกลตัว บ้างก็คิดว่า “อีกนานกว่าจะเกษียณ” แต่รู้หรือไม่ว่า “เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มวางแผนเกษียณคือวันแรกที่เริ่มทำงาน”
ตั้งเป้าหมายและคำนวณเงินเกษียณ
1. ตั้งเป้าหมายว่า “หลังเกษียณอยากใช้ชีวิตอย่างไร?” เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ต่อเดือน
2. นำมาคำนวณ โดยอาจใช้ Financial Calculator/เครื่องคำนวณทางการเงิน หรือ จะคิดเองคร่าว ๆ ก็ได้ โดยมีสูตรคือ
“เงินที่ใช้ต่อเดือน x 12 (เดือน) x จำนวนปีหลังเกษียณ”
ตัวอย่าง ใช้เงินเดือนละ 25,000 บาท และจะเกษียณในอายุ 60 ปี ประมาณเอาไว้ว่าจะอยู่ถึง 80 ปี ระยะเวลาเกษียณคือ 20 ปี นำมาคำนวณได้ว่า 25,000 x 12 x 20 = 6,000,000 บาท
*อย่าลืมนะว่ายังไม่คิดค่าเงินเฟ้อเลย!
.
มาดูกันต่อที่ระยะเวลาในการทำงาน
ตัวอย่าง เริ่มตอนอายุ 20 ปี จนถึงอายุ 60 ปี ระยะเวลาในการทำงานคือ 40 ปี
6,000,000/40 = ต้องมีเงินเพื่อการเกษียณอย่างต่ำปีละ 150,000 บาท หรือเดือนละ 12,500 บาท (ถ้าใช้เครื่องคำนวณทางการเงินเราจะสามารถดูได้ว่าเราต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเท่าไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของเรา จะช่วยให้เราเลือกเครื่องมือทางการเงินได้ง่ายขึ้น)
ตัวอย่างเครื่องมือในการเกษียณ
1. การลงทุน (เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล)
การลงทุนเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดในการเตรียมตัวเกษียณเพราะจะทำให้เรามีทรัพย์สินมากขึ้น และทำให้เราสามารถอยู่รอดต่อไปในสภาวะที่ค่าเงินเสียมูลค่าไป (เงินเฟ้อมากขึ้น) ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งการลงทุนนั้นก็มีหลายรูปแบบ มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เรา “ต้อง” พิจารณาก่อนเสมอคือ ระดับความเสี่ยงของการลงทุน และความรู้ ความเข้าใจที่เรามีต่อการลงทุนนี้
หากเราประเมินตัวเองแล้วว่ายังต้องศึกษาหาความรู้อีก เราอาจจะเก็บเงินออมเอาไว้ก่อนเพื่อรอวันที่เราจะนำเงินส่วนหนึ่งนี้ไปลงทุนในอนาคตก็ได้
2. การออม (ในที่นี้คือการออมเงินในธนาคาร)
อัตราการออมเงินที่เป็นที่นิยมจะอยู่ที่ 10-20% ของรายได้ ซึ่งจะต้องตัดเก็บ “ก่อนการใช้เงินก้อนนั้น” เราสามารถจัดแบ่งประเภทการออมได้หลายประเภท เช่น ออมเพื่อการเกษียณ ออมเพื่อเหตุฉุกเฉิน หรือออมเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ
ข้อดีคือมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก และสามารถถอนออกมาใช้ได้เลย แตกต่างจากการลงทุนบางประเภท เช่น หุ้น ซึ่งอาจไม่สามารถขายหุ้นได้ในทันที ข้อด้อยคืออัตราผลตอบแทนของการออมเงินในธนาคารนั้นยังน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทำให้เงินของเราก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา
3. สร้าง Passive Income
การสร้างกระแสเงินสดด้วย Passive Income เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ยอดฮิตที่มาแรง เพราะไม่ต้องใช้แรงหรือเวลาตัวเองในการสร้างเงิน แต่เป็นการสร้างระบบให้เงินสามารถทำงานด้วยตัวเองได้ ฟังดูเป็นทางออกสู่ชีวิตในฝัน แต่เดี๋ยวก่อน! การสร้างระบบนั้นต้องอาศัยทั้งทักษะความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และความอดทน ไม่ใช่เสกขึ้นมาได้ในชั่วข้ามคืน “อย่าลืมศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนทุกประเภทด้วยนะ”
“เงินเฟ้ออาจจะกินเงินเรา 7% แต่การลงทุนที่ขาดความเข้าใจจะกินเงินเรา ‘หมดตัว’ ”
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #วางแผนการเกษียณ #เกษียณ #Retire #การเงิน #วางแผนการเงิน