อยากมี Passive Income เริ่มต้นยังไงดี?

Passive Income เป็นคำที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องการเงิน โดยเฉพาะสำหรับวัยทำงาน-ชาวออฟฟิศ ที่มักถูกสอนมาเสมอว่า “ต้องมีรายได้ 2 ทาง”, “ต้องให้เงินทำงาน”, “ต้องมี Passive Income” วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จักกับ Passive Income แล้วถ้าอยากมี Passive Income ต้องเริ่มต้นอย่างไร แอดมินรวบรวมมาให้แล้ว!

Passive Income คืออะไร

คือ รายได้ที่ไม่ต้องใช้เวลาทำงานเพื่อแลกเงิน แต่สามารถได้รับผลตอบแทนจากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ เช่น การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า หรือลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น กองทุน พันธบัตร

ข้อดีของ Passive Income คือ ทำให้เรามีอิสระมากกว่า เพราะได้เงินมาโดยไม่ต้องแลกด้วยเวลาในการทำงาน อาจจะมีบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่เต็มเวลา ถือเป็นความใฝ่ฝันของใครหลาย ๆ คนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การสร้าง Passive Income นั้นต้องใช้เวลา และความอดทนสูง เพราะต้องเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้เสียก่อน โดยก่อนจะได้มาซึ่งสินทรัพย์ แน่นอนว่าเราอาจจะต้องเก็บหอมรอมริบเพื่อให้ได้มา หรือที่เรียกว่า “ทุน” ที่ใช้ในการ “ลงทุน” นั่นเอง อีกทั้งยังต้องใช้เวลารอคอยเป็นเวลานาน ๆ เปรียบเหมือนการปลูกพืชเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตมาใช้ประโยชน์ได้

เริ่มต้นอย่างไรดี?

อยากมี Passive Income เริ่มต้นยังไงดี?

1. เงินฝาก

เงินฝาก คือ การลงทุนที่ง่ายที่สุด ความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะการลงทุนชนิดนี้การันตีได้ว่าไม่มีขาดทุน (ถ้าไม่หักลบกับอัตราเงินเฟ้อ) แต่ก็แลกมาด้วยผลตอบแทนที่น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน โดยบัญชีเงินฝากนั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ 

– บัญชีเงินฝากออมทรัพย์

บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เป็นบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์ทำออกมาเพื่อให้ลูกค้ารายย่อย โดยเน้นความสะดวกสบายในการฝากและถอนเงิน ไม่มีการกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการฝากและถอน ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝากปีละ 2 ครั้ง (คำนวณเป็นรายวัน) แต่อัตราดอกเบี้ยจะต่ำมากเพราะว่าธนาคารไม่สามารถนำเงินไปต่อยอดได้มากนัก 

– บัญชีเงินฝากประจำ

เป็นบัญชีเงินฝากที่มีการกำหนดระยะเวลาและจำนวนเงินขั้นต่ำในการฝาก โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์เพราะว่าการฝากเงินใน บัญชีเงินฝากประจำจะมีระยะเวลาในการฝากที่นานกว่าบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ ธนาคารจึงสามารถนำเงินไปต่อยอดเพิ่มได้เช่น การนำเงินไปปล่อยกู้

– บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน

เป็นบัญชีที่มีไว้เพื่อความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ โดยธนาคารเปิดบัญชีนี้มาเพื่อลูกค้าระดับกลางหรือระดับสูงที่มีเครดิตดี เพราะบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน สามารถเบิกเกินบัญชีได้ซึ่งธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยรายวันที่เบิกเกินบัญชี ซึ่งการใช้จ่ายเงินในบัญชีกระแสรายวันจะใช้ในรูปแบบการเซ็นเช็ค และผู้รับเช็คจะนำไปขึ้นเงินกับธนาคาร

2. พันธบัตรรัฐบาล

พันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) คือ ตราสารหนี้ซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ถือ (นักลงทุน) มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกมีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เราเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล และได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนนั่นเอง

เนื่องจากลูกหนี้ของเราเป็นรัฐบาล ทำให้โอกาสในการผิดชำระหนี้นั้นต่ำมาก การลงทุนประเภทนี้จึงเป็นหนึ่งในตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2021 มีจำนวนเงินหมุนเวียนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลถึง 119 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 4,300 ล้านล้านบาท

3. ตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้)

ตราสารหนี้เอกชน หรือที่มักเรียกวา่ “หุ้นกู้” มีลักษณะคล้ายกับพันธบัตรรัฐบาล เพราะถือเป็นการลงทุนประเภทตราสารหนี้เช่นกัน แตกต่างกันที่ “หุ้นกู้” นั้นออกโดยบริษัทเอกชน และบริษัทนั้น ๆ ก็จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ ซึ่งโอกาสในการผิดชำระหนี้นั้นขึ้นอยู่กับเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้น ๆ 

ตราสารหนี้เอกชนจึงมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล ในทางกลับกันผลตอบแทนที่ได้รับก็มากขึ้นไปด้วยตามความเสี่ยง โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2-5% ต่อปี (บริษัทระดับเครดิตสูง) และสูงกว่า 5% (บริษัทระดับเครดิตต่ำ)

4. หุ้น

“หุ้น” คือ ตราสารประเภทหนึ่ง เป็นตราสารที่กิจการออกขายให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ  มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “ตราสารทุน” โดยผู้ถือตราสารทุนจะมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” ซึ่งจะมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีสิทธิในทรัพย์สิน และรายได้กิจการ รวมทั้งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล แล้วแต่ผลกำไรและสัดส่วนหุ้นที่เราถือ

หุ้นนับเป็นอีกหนึ่งการลงทุนยอดนิยมเพื่อสร้าง Passive Income เนื่องจากด้วยความเสี่ยงที่มากกว่า 3 การลงทุนข้างต้น ทำให้ผลตอบแทนก็มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อนำมาหักลบกับอัตราเงินเฟ้อแล้วก็ยังมีกำไรเหลือ ๆ อีกทั้งยังมีปันผลที่อาจจะจ่ายเป็นรายปี หรือจ่ายเป็นรายไตรมาส มีทั้งรูปแบบที่จ่ายเป็นเงินสด และจ่ายเป็นหุ้น ซึ่งปกติแล้วบริษัทจะจ่ายให้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับกำไรสะสม และนโยบายการจ่ายปันผล

5. ทองคำ

ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ถูกใช้เป็นเงินสำรองของแต่ละประเทศ โดยจุดเด่นของทองคำก็คือ การเป็น Safe Haven แปลตรงตัวได้ว่าสถานที่พักซึ่งปลอดภัย หมายความว่าทองคำเป็นที่พักเงินที่ดีเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ เนื่องจากมูลค่าของทองคำจะไม่ตกตามสินทรัพย์อื่น ๆ

จุดเด่นที่สองก็คือเป็น Inflation Hedge หรือสินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ แต่เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีการจ่ายปันผลหรือดอกเบี้ย ดังนั้นผลตอบแทนจากทองคำจึงมาจากส่วนต่างของราคาเท่านั้น แม้ว่าราคาทองคำจะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่นับว่าผันผวนน้อยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ

6. กองทุนอสังหาริมทรัพย์

เนื่องจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้นจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก ระดับหลักแสนไปจนถึงหลักสิบล้านก็มี แถมยังต้องคอยบริหาร หาลูกค้ามาเช่าต่อเพื่อให้ได้ผลตอบแทนและกระแสเงินสด ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยแต่งตั้งผู้จัดการเพื่อคอยดูแลอสังหาริมทรัพย์ และจัดการบริหารเรื่องของการหาลูกค้า

กองทุนอสังหาริมทรัพย์มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4-8% ขึ้นอยู่กับทำเลและประเภทอสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์นี้เหมาะกับผู้ที่สนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-สูง แต่ไม่ได้มีเงินก้อนใหญ่ ไม่อยากจัดการบริหารเอง แต่ต้องการผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ

บทความโดย คุณานันต์ TECHTORO 💙❤️

________________________________

ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์

กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻

FB : https://techtoro.me/web-fb

[email protected] : https://techtoro.me/web-line

Youtube : https://techtoro.me/web-yt

IG : https://techtoro.me/web-Ig

Twitter : https://techtoro.me/web-tw

Blockdit : https://techtoro.me/web-bd

Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok 

Email : [email protected]

#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #PassiveIncome #Income #Invest #Investment #Stock #Bond #Gold #Saving #ลงทุน #การลงทุน #สร้างรายได้ #หุ้น #หุ้นกู้ #พันธบัตร #ทอง #เงินเฟ้อ