ข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่าภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ได้อนุญาตให้ทำการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วไปได้สองรูปแบบคือ
เงินดิจิตอล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น หรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ เงินดิจิตอลที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น Bitcoin Ethereum เป็นต้น
โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่น ๆ (Utility Token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน
ส่วนของ Utility Token เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วโดยกระแสของการระดมทุนแบบ ICO ที่คึกคักในช่วงปี 2017 ได้เสนอขายโทเคนประเภทนี้เป็นส่วนใหญ่เกือบ 99% โดยผู้ถือโทเคนจะได้รับสิทธิตามที่ได้ตกลงกันไว้ด้วย Smart Contact แต่จะไม่ได้ถือหรือเป็นเจ้าของสินทรัพย์ใด ๆ
ตัวอย่างเช่นถือโทเคน XXX แล้วจะได้รับสิทธิส่วนลดในการใช้บริการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มของผู้ออก ICO เป็นต้นซึ่งข้อดีของโทเคนประเภทนี้คือมีความคล่องตัวสูงสามารถเสนอขายระดมทุนได้รวดเร็วเพราะไม่ค่อยมีกฎหมายห้ามเท่าไร
แต่ข้อเสียคือการที่ผู้ถือโทเคนไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ใด ๆ หรือมีสินทรัพย์จริงหนุนหลังทำให้โปรเจกต์ระดมทุนส่วนใหญ่เข้าข่ายการเป็น Scam หรือโปรเจกต์ไม่เกิดขึ้นจริง
ตัวอย่างของ Utility Token ก็เหมือนกับคูปองใน Food Court ที่ไม่สามารถคืนได้หรือบัตรกำนัลห้างสรรพสินค้าที่ไม่สามารถแลกกลับเป็นเงินได้
Security Token เป็นการลงทุนหรือหลักทรัพย์ซึ่งต้องมีการกำกับดูแลโดยองค์กรรัฐ
สำนักงาน ก.ล.ต. มีความตั้งใจที่จะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่จริงหรือ STO (Securities Token Offering) เช่นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ได้ถูกนำมาแปลงเป็นโทเคนดิจิทัลและเสนอขาย แต่การที่ต้องเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์เดิมที่ครอบคลุมถึงสินทรัพย์ที่เราคุ้นเคยกันนั่นคือ หุ้น กองทุนรวมทองคำ ฯลฯ อาจมีความยุ่งยากวุ่นวายในการตีความข้อกฎหมายจนอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการอนุญาตให้ระดมทุน
เป็นที่มาของ Investment Token ซึ่งมีความใกล้เคียงกับ STO เพราะมีสินทรัพย์จริงหนุนหลัง (Asset Back) แต่ความแตกต่างคือ STO เราจะได้สิทธิการเป็นเจ้าของในสินทรัพย์นั้นจริง ๆ ผ่านโทเคน (จากปัจจุบันเป็นเจ้าของผ่านใบหุ้น) เช่น การเป็นเจ้าของหุ้นสามัญหรือเจ้าของในโครงการอสังหาริมทรัพย์เช่นถ้าเราถือโทเคนของหุ้น XX เราจะได้สิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและรับเงินปันผล
แต่กรณีของ Investment Token เราจะได้รับสิทธิในการร่วมลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ แทนแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นสิ่งที่เราจะได้รับคือสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในโทเคนนั้น ๆ ตามข้อตกลงเช่นสิทธิการรับเงินปันผลสิทธิการได้ผลกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นโดยตรงแต่เชื่อว่าผู้ลงทุนส่วนใหญ่ต่างต้องการผลตอบแทนจากการถือครองสินทรัพย์อ้างอิงมากกว่าการเป็นเจ้าของตรง (เช่นเราซื้อหุ้นเพราะต้องการผลตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือขายทำกำไรมากกว่าการเป็นเจ้าของบริษัท)
ทั้งนี้ Securities Token หรือ STO กำลังเป็นการลงทุนแห่งอนาคตเนื่องจากสินทรัพย์การลงทุนแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ หุ้น ฯลฯ มีมูลค่ามากกว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมากมายหลายพันเท่า ถ้าหากถูกนำมาแปลงให้เป็นโทเคนดิจิทัลจะช่วยให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลขยายตัวและเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ได้อีกมาก
Security Token จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาร์เกตแคปที่ใหญ่ขึ้นเนื่องจากนักลงทุนสถาบันบางส่วนจะเริ่มนำเงินมาลงทุน จากเดิมที่โปรเจกต์ ICO ส่วนใหญ่มักจะล้มเหลวจากการที่ไม่มีสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ เจ้าของโปรเจกต์จึงพร้อมที่จะพับโครงการได้ทันที
ขณะที่ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัลได้ให้คำจำกัดความ “โทเคนดิจิทัล” ไว้ว่าเป็นหน่วยข้อมูลที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ถูกสร้างขึ้นมาเสมือนเป็นตัวแทนสิทธิที่จะเข้าร่วมลงทุนหรือได้รับสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทก็คือ
1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เหมือนเป็นตัวแทนที่ใช้ในการแลกสิทธิในการรับสินค้าหรือบริการ เช่น สิทธิในการใช้งานแพลตฟอร์ม หรือบางครั้งก็มีการแจกจ่ายแทนผลตอบแทนในการร่วมใช้บริการ
ตัวอย่างเช่นโทเคน JFIN ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ภายในธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ท ซึ่งเป็นผู้เสนอขายโทเคน เช่น สินเชื่อบุคคล จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นตัวแทนสิทธิและร่วมลงทุนในธุรกิจ ผู้ถือครองจะมีสิทธิ์ในการรับส่วนแบ่งรายได้หรือเงินปันผล เปรียบเหมือนการถือครองหุ้นในบริษัท แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นนั้น ๆ
ตัวอย่างเช่นโทเคน B ซึ่งเป็นตัวแทนสิทธิของโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้างสรรพสินค้า เราจะได้สิทธิ์ในการรับประโยชน์จากผลตอบแทน เช่น ค่าเช่า เงินปันผล ฯลฯ แต่ไมไ่ด้เป็นเจ้าของห้างโดยตรง
Token แต่ละประเภทอาจจะมีบางอย่างที่เหมือนกันและแตกต่างกันแต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะต้องรู้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวมีคุณสมบัติอย่างไรและนำไปใช้ประโยชน์อะไร
นเรศ เหล่าพรรณราย
CEO and Founder : Ricco Wealth
เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้