นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาด ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 กรกฎาคม 2565) ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่า เนื่องจากตลาดกังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป จากราคาพลังงานพุ่งสูง
นายพูนกล่าวว่า การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นั้นเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงการอ่อนค่าลงหนักของสกุลเงินฝั่งยุโรป อันเนื่องมาจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักเสี่ยงถดถอย ซึ่งหากตลาดยังคงกังวลต่อไป เงินดอลลาร์สหรัฐก็จะได้แรงหนุนต่อเนื่อง กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลง
นายพูน ยังกล่าวอีกว่า เงินบาทที่อ่อนค่าจะมีผลกระทบ 2 มุม คือ อัตราเงินเฟ้อ และการนำเข้า โดยจากผลการวิจัยของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า หากเงินบาทอ่อนค่า 1% จะส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น 0.6% สะท้อนว่าหากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จะทำให้เงินมีค่าน้อยลง ทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งปัจจัยนี้จะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้
ขณะที่จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐอาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุม FED ปลายเดือนนี้ หาก FED ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่ความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังคงมีอยู่ หากทางจีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
หากสถานการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยไทยเริ่มเจอการระบาดระลอกใหม่ อาจกดดันค่าเงินบาท ผ่านแรงเทขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว และธีมการเปิดเมือง (Reopening Theme) อย่างไรก็ตาม ความผันผวนสูงของเงินบาทอาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยลดความผันผวนลง เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะช่วงราคา 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าได้เช่นกัน ขณะที่ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ทยอยซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐไว้แล้ว ทำให้การ Panic Buy เงินดอลลาร์สหรัฐจากผู้นำเข้าไม่ได้เกิดขึ้น และมองว่าอาจรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาท กลับมาต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกัน ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินของ ธปท. กล่าวยอมรับว่า การที่เงินบาทอ่อนค่าย่อมส่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน ทำให้เป็นภาระทางการคลังและภาระของภาคธุรกิจที่สูงขึ้น
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #Depreciation #BahtDepreciation #เงินบาท #เงินบาทอ่อนตัว #เศรษฐกิจ #ของแพง