เป็นทีฮือฮากันในหมู่นักลงทุนหุ้น เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากไม่ได้เก็บภาษีในส่วนนี้เป็นเวลาถึง 30 ปี
วันนี้แอดมินได้รวบรวมคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับภาษีขายหุ้น ไม่ว่าจะเป็น “คืออะไร เริ่มเก็บเมื่อไร คำนวณยังไง ใครต้องจ่าย?” พร้อมคำตอบมาให้แล้ว ไปดูกันเลย

ก่อนอื่นมาดูกันว่า “ภาษีหุ้น” มีอะไรบ้าง
ภาษีหุ้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ
1. ภาษีเงินได้ ประกอบด้วย
1.1 ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax)
เป็นภาษีที่เกิดจากส่วนต่างราคาในการขายหุ้น โดยคิดเฉพาะส่วนที่กำไร เช่น ซื้อหุ้น XXX มาในราคา 20 บาท และขายไปที่ราคา 21 บาท กำไรจากส่วนต่างราคาเท่ากับ 21-20 = 1 บาท ตัวเลขนี้จะถูกนำไปคำนวณเป็นภาษีเงินได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีส่วนนี้สำหรับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่จะมีการเรียกเก็บกับนิติบุคคลที่มีกำไรส่วนนี้ (มีข้อยกเว้นในบางกรณี)
1.2 ภาษีจากเงินปันผล (Dividend Tax)
เป็นภาษีที่เกิดจากการที่นักลงทุนได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่นักลงทุนถือหุ้นอยู่ โดยจะมีการหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ไว้ในอัตรา 10% เสมอ และมีทางเลือกให้นักลงทุนสามารถขอเครดิตภาษีคืนได้ผ่านการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี
2. ภาษีอื่น ๆ ประกอบด้วย
2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
เป็นภาษีที่เก็บจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น โดยในปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่อัตรา 7% ของค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมซื้อหุ้น หรือขายหุ้นก็ตาม
2.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax)
เป็นภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ในอัตรา 0.11% ที่กำลังจะถูกเรียกเก็บในปีนี้ (2566) เป็นต้นไป เป็นภาษีที่จัดเก็บจากกิจกรรมซื้อขายสินค้า และบริการ ในกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่จะเป็นคนละส่วนกับ VAT ไม่เก็บซ้ำซ้อนกัน
แล้วภาษีขายหุ้นคืออะไร?
ภาษีขายหุ้น หรือ Transaction Tax เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax) โดยจะคิดคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเดิมประเทศไทยเคยมีการเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.1% มาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 โดยขณะนั้น เรียกว่า ภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ และได้มีการยกเว้นไป ในปี พ.ศ. 2525
ก่อนจะกลับมาเก็บอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2534 ภายใต้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 โดยมีบทบัญญัติให้การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยคิดจาก รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของการขายหลักทรัพย์ และได้มีการยกเว้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2535
โดยกระทรวงการคลังสื่อสารมาตลอดว่า จะต้องจัดเก็บในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ และให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้
เริ่มเก็บภาษีขายหุ้นเมื่อไร?
กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังประกาศใช้ โดยโบรกเกอร์เป็นผู้จัดเก็บกับนักลงทุนเมื่อทำธุรกรรมขายหุ้นสำเร็จ และนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในไตรมาส 2 ปี พ.ศ. 2566 (ปลายเดือนมี.ค. – เม.ย. 66) แต่จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้นคงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการดำเนินอย่างไรต่อไป
คำนวณยังไง?
ในปีแรก (พ.ศ. 2566) จะเก็บในอัตรา 0.055% ซึ่งคิดได้ง่าย ๆ ว่า ขายหุ้น 10,000 บาท จะต้องเสียภาษีขายหุ้น 5.5 บาท, ขายหุ้น 100,000 บาท เสียภาษีขายหุ้น 55 บาท หรือขายหุ้น 1,000,000 บาท เสียภาษีขายหุ้น 550 บาท
ขณะที่ปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป จะจัดเก็บที่ 0.11% เท่ากับว่าหากขายหุ้น 10,000 บาท จะต้องเสียภาษีขายหุ้น 11 บาท, ขายหุ้น 100,000 บาท เสียภาษี 110 บาท หรือขาย 1,000,000 บาท จะต้องเสียภาษี 1,100 บาท
สำหรับนักลงทุนรายย่อย สูตรการคำนวณต้นทุนการทำธุรกรรมขายหุ้น คือ (ค่านายหน้า × VAT) + Trading Fee + Clearing Fee + Regulatory Fee + ภาษีขายหุ้น สำหรับนักลงทุนสถาบัน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นไทย จะขึ้นอยู่กับการตกลงกับโบรกเกอร์ที่ใช้บริการ แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีขายหุ้นถูกเรียกเก็บเหมือนกัน
ใครต้องจ่าย?
ใน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มีบทบัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะคือ ผู้ขาย แต่สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) มีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี แทนผู้ขายในนามตนเอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก และให้ถือว่าโบรกเกอร์เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการจัดเก็บภาษีชนิดอื่นด้วย ได้แก่ ภาษีท้องถิ่น ในอัตรา0.01% , ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% ของมูลค่าค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมซื้อหุ้น หรือขายหุ้นก็ตาม
บทความโดย คุณานันต์ TECHTORO 💙❤️
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #หุ้น #ภาษี #ภาษีหุ้น #ภาษีขายหุ้น #ภาษี2566 #ลงทุน #การลงทุน #Investment #Stock #Tax #TransactionTax #Money #Traditional