8 ระดับความเสี่ยงในกองทุนรวม

“การลงทุนมีความเสี่ยง” คือคำที่เราได้ยินกันมาตลอด หลายคนได้ยินแล้วรู้สึกกลัวการลงทุน แต่ความจริงแล้ว ‘ความเสี่ยง’ ไม่ได้มีแต่แง่ลบเพียงเท่านั้น เพราะ ‘ความเสี่ยง’ สามารถช่วยให้เงินลงทุนของเรามีโอกาสงอกเงยได้มากกว่า วันนี้เรามาดูกันว่า “8 ระดับความเสี่ยงในกองทุนรวม” จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

“ความเสี่ยงในการลงทุน คือ ความไม่แน่นอนหรือโอกาสที่เราจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้จากการลงทุน”

8 ระดับความเสี่ยงในกองทุนรวม

ความเสี่ยงระดับที่ 1 : กองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ

เป็นกองทุนรวมที่นำเงินจากนักลงทุนรายย่อย ไปซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินระยะสั้นที่มีสภาพคล่องคล้ายเงินสด หรือใกล้เคียง เช่น เงินฝาก ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ระยะสั้น โดยสาเหตุที่กองทุนรวมประเภทมีความเสี่ยงต่ำมากก็เพราะว่า ความเสี่ยงของ ‘ตลาดเงิน’ คือ “ถ้าธนาคารล้ม เราก็จะล้มไปด้วย” ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ากองทุนรวมประเภทนี้จะไม่สามารถขาดทุนได้

ความเสี่ยงระดับที่ 2 : กองทุนรวมตลาดเงินต่างประเทศ

กองทุนรวมประเภทนี้จะมีลักษณะเหมือนกับกองทุนรวมประเภทที่ 1 แต่จะแตกต่างกันตรงที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมา คือ ความผันผวนเรื่องค่าเงิน แต่กองทุนรวมประเภทนี้ส่วนใหญ่จะทำการลดความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging) ไว้อยู่แล้ว

ความเสี่ยงระดับที่ 3 : กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล

เป็นกองทุนที่นำเงินของนักลงทุนรายย่อยไปซื้อพันธบัตรจากรัฐบาล หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือนำเงินไปให้รัฐบาลกู้ โดยมีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่อาจพบก็คือการผิดนัดชำระหนี้ แต่ขึ้นชื่อว่ารัฐบาลคงมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำใช่ไหมล่ะ(?)

ความเสี่ยงระดับที่ 4 :  กองทุนรวมตราสารหนี้

เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้เอกชน หรือที่เราเรียกกันว่า “หุ้นกู้” นั่นเอง โดยความเสี่ยงก็จะคล้าย ๆ กับพันธบัตรรัฐบาล (เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้เหมือนกัน) นั่นก็คือโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ แต่ลูกหนี้ของเราจะเป็นบริษัทเอกชนซึ่งมีระดับเครดิตแตกต่างกันไป 

ความเสี่ยงระดับที่ 5 : กองทุนรวมผสม

ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ หรือหุ้น แต่จะต่องมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 35% และไม่เกิน 65% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม (เงินลูกค้าทั้งหมด) 

ความเสี่ยงระดับที่ 6 : กองทุนรวมตราสารทุน

เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนใน “หุ้น” ของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (Warrant) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม​ กองทุนรวมประเภทนี้เป็นหนึ่งในกองทุนรวมที่นิยมมากที่สุด

ความเสี่ยงระดับที่ 7 : กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ

เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน แต่จะเน้นการลงทุนตามภาคธุรกิจ หรืออาจจะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็น ‘ธีม’ ธุรกิจ เช่น กองทุนรวมหุ้นกลุ่มธนาคาร กองทุนรวมหุ้นกลุ่มพลังงาน เป็นต้น ความเสี่ยงที่เพิ่มมาก็คือ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้ภาคธุรกิจที่กองทุนรวมไปลงทุนเกิดปัญหา ก็อาจทำให้กองทุนรวมของเราติดลบได้ เช่น โควิด-19 กับธุรกิจภาคท่องเที่ยว

ความเสี่ยงระดับที่ 8 : กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก

กองทุนรวมประเภทสุดท้ายนี้จะลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งสินทรัพย์ทางเลือก คือ สินทรัพย์ที่ไม่ได้มีการซื้อขาย หรือลงทุนกันอย่างแพร่หลายเหมือนกับสินทรัพย์ในการลงทุนโดยทั่วไป มีตลาดเฉพาะกลุ่ม และมีการกำหนดราคาซื้อขายกันจากในกลุ่มนั้น ๆ หรืออาจจะมีตัวกลางในการกำหนดราคาก็ได้ เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมจะไม่ได้นำเงินไปซื้อสินทรัพย์นั้น ๆ จริง แต่จะเป็นการลงทุนในสัญญาซื้อขายแทน

บทความโดย คุณานันต์ TECHTORO 💙❤️

________________________________

ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์

กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻

FB : https://techtoro.me/web-fb

LINE@ : https://techtoro.me/web-line

Youtube : https://techtoro.me/web-yt

IG : https://techtoro.me/web-Ig

Twitter : https://techtoro.me/web-tw

Blockdit : https://techtoro.me/web-bd

Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok 

Email : [email protected]

#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #กองทุนรวม #กองทุน #ลงทุน #ซื้อกองทุน #ซื้อกองทุนรวม #ความเสี่ยง #ระดับความเสี่ยง #ประเภทกองทุน #MutualFund #Investment #Traditional