วันนี้แอดมินมีสาระน่ารู้มาฝากกัน เกี่ยวกับหัวข้อยอดฮิต “เงินเฟ้อ” อีกเช่นเคย
มาดูกันว่ามีปัจจัยหลักอะไรที่สุมไฟให้กับภาวะเงินเฟ้อ! และมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?
ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
จากวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอุปทาน (Supply Shortage) เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก การขนส่งเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ที่สำคัญคือ “พี่ใหญ่” อย่างจีน ได้ออกนโยบาย Zero-COVID เนื่องจากต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดภายในประเทศ เรียกได้ว่าเป็นการปิดประเทศอย่างไม่มีกำหนด นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จากการขาดแคลนวัตถุดิบจากจีน การชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่รุนแรงขึ้นยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังทวีความรุนแรงในปัจจุบันให้แย่ลง
นอกจากนี้ยังเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น สินค้าเกษตร ในหลายพื้นที่ และวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนสำคัญในภาคธุรกิจ จะเห็นได้ว่ามีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่อุปทานลดน้อยลง เคราะห์ซ้ำยังเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคอีก เช่น เรือคาร์โกที่ขวางคลอง Suez ส่งผลให้การขนส่งทั่วโลกหยุดชะงัก เกิดการขาดแคลนสินค้าต่าง ๆ ในหลากหลายพื้นที่
อุปทานของเงินในระบบ (Money Supply)
ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Federal Reserve (FED) ได้สั่งการให้ โรงพิมพ์ธนบัตร กระทรวงการคลัง หรือ The Treasury Department’s Bureau of Engraving and Printing (BEP) ดำเนินการพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มเข้าไปในระบบ จุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและเพื่อช่วยให้ประเทศสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติโรคระบาดได้
แต่การเพิ่มปริมาณเงินไปในระบบนั้นเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีสำหรับภาวะเงินเฟ้อ เพราะทำให้อุปทานเงินในระบบ เพิ่มขึ้นมากกว่าความสามารถในการเพิ่มการผลิตสินค้าและบริการของระบบ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ไม่ทันที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวดีก็ได้เกิดข้อพิพาทและสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก
การขาดแคลนพลังงาน (Energy Shortage)
สงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้นกินระยะเวลานานพอที่จะส่งผลต่อราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมัน เพราะรัสเซียเป็นประเทศส่งออกน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย) กระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกอย่างรุนแรง ต้นทุนสูงขึ้นทำให้ราคาสินค้า/บริการ และค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกระดับ
รัฐบาลไทยต้องมีการอุดหนุนราคาน้ำมันซึ่งใช้จำนวนเงินมหาศาลในการช่วยพยุงค่าครองชีพไว้ อย่างไรก็ตาม ผู้คนก็ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ดี เพราะพลังงานคือต้นทุนสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เมื่อมีอุปทานของพลังงานน้อยลงแต่ยังคงมีอุปสงค์มาก ราคาย่อมเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ที่ส่งออกปุ๋ยมากที่สุดในโลก และปุ๋ยคือต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตรและปศุสัตว์ นับได้ว่าสงครามครั้งนี้ได้สร้างปัญหาใหญ่ให้กับทั่วโลกและสุมไฟให้กับปัญหาเงินเฟ้อที่เป็นความท้าทายของเหล่ารัฐบาลอีกด้วย
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #Inflation #เงินเฟ้อ #เศรษฐกิจ #การเงิน