การจ่ายภาษี เป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชนพลเมืองไทย คนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี (เฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือน) มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเกณฑ์ต้องยื่นภาษีจะต้องรวบรวมเอกสารจำเป็นให้ถูกต้องและครบถ้วน และ นำไปยื่นที่กรมสรรพากร หรือ จะใช้ช่องทางออนไลน์โดยการยื่นเอกสารผ่านทางเว็บไซต์ หรือ ในแอปพลิเคชันก็ได้
ยื่นภาษีเมื่อไร?
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ ปกติการยื่นแบบแสดงรายการ จะยื่นปีละ 1 ครั้ง (ยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป) แต่ถ้าเงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี (สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี)

มีเงินได้เท่าไรต้องเสียภาษี?
เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ “ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี”
สำหรับคนโสด: ผู้มีเงินได้ประเภทเงินเดือน จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีหากมีรายได้ 120,000 ต่อปี หรือ 10,000 บาทต่อเดือน ส่วนในกรณีมีเงินได้ประเภทอื่น จะต้องยื่นแบบฯ หากมีรายได้ 60,000 บาทต่อปี หรือ 5,000 บาทต่อเดือน
สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว: ผู้มีเงินได้ประเภทเงินเดือน จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีหากมีรายได้ 220,000 ต่อปี หรือ 18,333 บาทต่อเดือน ส่วนในกรณีมีเงินได้ประเภทอื่น จะต้องยื่นแบบฯ หากมีรายได้ 120,000 บาทต่อปี หรือ 10,000 บาทต่อเดือน

วิธีคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ
สูตรหาภาษีที่ต้องจ่าย: เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
โดยเงินได้สุทธิ สามารถหาได้จากการนำรายได้ทั้งหมดมารวมกัน พร้อมหาค่าลดหย่อนต่าง ๆ (เช่น ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน) และนำมาหักออกจากรายได้ทั้งหมด เหลือเท่าไรคือเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดต่อไป
สูตรหาเงินได้สุทธิ: เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
เช่น นาย A เป็นพนักงานเงินเดือนมีรายได้ทั้งปีรวมกัน 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 80,000 บาท และมีรายการลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท ประกันสังคม 9,000 บาท ไม่มีกองทุนหรือประกันอื่น ๆ
ตัวอย่าง: 300,000-80,000-(60,000+9,000) = 151,000 บาท

หลังจากนั้นการคำนวณภาษีจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : คำนวณภาษีแบบขั้นบันได

อัตราภาษีเงินได้ แบบขั้นบันได
1. เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท (อัตราภาษี 0% หรือได้รับการยกเว้นภาษี)
ภาษี = 0
2. เงินได้สุทธิ 150,000 – 300,000 บาท (อัตราภาษี 5%)
ภาษี = (เงินได้สุทธิ – 150,000) x5%
3. เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท (อัตราภาษี 10%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 300,000) x10% ] + 7,500
4. เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท (อัตราภาษี 15%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 500,000) x15% ] + 27,500
5. เงินได้สุทธิ 750,001 – 1 ล้านบาท (อัตราภาษี 20%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 750,000) x20% ] + 65,000
6. เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท (อัตราภาษี 25%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 1,000,000) x25% ] + 115,000
7. เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท (อัตราภาษี 30%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 2,000,000) x30% ] + 365,000
8. เงินได้สุทธิมากกว่า 5 ล้านบาท (อัตราภาษี 35%)
ภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 5,000,000) x35% ] + 1,265,000
ขั้นตอนที่ 2 : คำนวณภาษีแบบเหมา

กรณีที่จะต้องคำนวณภาษีตามวิธีคิดแบบเหมา คือต่อเมื่อมีรายได้ทางอื่นนอกเหนือจากเงินเดือน หากรายได้จากทางอื่นทั้งหมดมีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป ให้คำนวณในอัตรา 0.5% ของยอดเงินได้พึงประเมิน
สูตร: (เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.005 (0.5%) = ภาษีแบบเหมา
เช่น นาย A มีรายได้จากการขายของออนไลน์ 1,000,000 บาท (ต่อปี) นำมาลบกับเงินเดือนที่ 300,000 บาท (ต่อปี) จากนั้นนำมาคูณ 0.5% เท่ากับ 3,500 บาท
ตัวอย่าง: (1,000,000 – 300,000) x 0.005 (0.5%) = 3,500 บาท
*ข้อควรระวัง!
– วิธีนี้จะคำนวณจากรายได้ทางอื่น ๆ ทุกทางยกเว้นเงินเดือน
– หากคำนวณด้วยวิธีคิดแบบเหมาแล้ว มีภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีในวิธีนี้
ขั้นตอนที่ 3 : เปรียบเทียบและสรุป
ให้เทียบกันระหว่าง 2 วิธี คือ วิธีคิดแบบขั้นบันได กับ วิธีคิดแบบเหมา โดยวิธีใดคำนวณแล้วเสียภาษีสูงกว่า ให้เลือกเสียภาษีตามวิธีนั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก FINNOMENA
บทความโดย คุณานันต์ TECHTORO 💙❤️
________________________________
ไม่พลาด! ทุกความรู้ที่จะให้คุณค่ามากกว่าสินทรัพย์
กดติดตาม Techtoro ได้ที่ 👉🏻
FB : https://techtoro.me/web-fb
LINE@ : https://techtoro.me/web-line
Youtube : https://techtoro.me/web-yt
IG : https://techtoro.me/web-Ig
Twitter : https://techtoro.me/web-tw
Blockdit : https://techtoro.me/web-bd
Tiktok : https://techtoro.me/web-tiktok
Email : [email protected]
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #Tax #IncomeTax #Income #Invest #ลงทุน #การลงทุน #ภาษี #ภาษีเงินได้ #ภาษีประจำปี #ภาษี2565 #คำนวณภาษี #กรมสรรพากร #ออมเงิน #เศรษฐกิจ #มนุษย์เงินเดือน #FINNOMENA